Site icon ปากเพียวนิวส์ | Pakphriao News ข่าวสดออนไลน์

สระบุรีตักบาตรข้าวต้มลูกโยน ออกพรรษาวิถีใหม่ปลอดโควิด-19

สระบุรีตักบาตรข้าวต้มลูกโยน

สระบุรีตักบาตรข้าวต้มลูกโยน

สระบุรีตักบาตรข้าวต้มลูกโยนออกพรรษาวิถีใหม่ปลอดโควิด-19 – นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี, พระราชธีราภรณ์ (ประดิษฐ์ ฐิตเมโธ) รองเจ้าคณะจังหวัด สระบุรีและเจ้าอาวาสวัดพระพุทธฉาย พร้อม นางลัดดา หงสุรพันธ์ วัฒนธรรมจังหวัดสระบุรี, นายเรืองศักดิ์ วรหาญ ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดสระบุรี ปฏิบัติหน้าที่ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสระบุรี, นพ.รุ่งฤทัย มวลประสิทธิ์พร สาธารณสุขจังหวัดสระบุรี ร่วมแถลงข่าวจัดงาน มหัศจรรย์ข้าวต้มลูกโยนแห่งสระบุรี ประจำปี 2563 ตามสโลแกน “ตักบาตรเทโว วิถีใหม่ สวมหน้ากากอนามัย ปลอดภัยจาก โควิด-19” ที่บริเวณลานวัดพระพุทธฉาย ต.หนองปลาไหล อ.เมือง จ.สระบุรี

เพื่อเป็นการสืบสานประเพณีมาแต่โบราณกาล ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือ “วันออกพรรษา” ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 (ปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 3 ต.ค.2563) ประชาชนต่างมารอเฝ้ารับเสด็จพระพุทธเจ้า เสด็จจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์กลับจากแสดงพระอภิธรรมปิฎกต่อพระพุทธมารดา เพื่อรอใส่บาตรพระพุทธองค์ ประชาชนที่อยู่ห่าง ออกไป ไม่สามารถจะใส่บาตรได้ จึงใช้วิธีการโยนอาหารลงในบาตรของพระพุทธเจ้าและพระสาวก

โดยอาหารเหล่านั้นตกลงในบาตรเป็นที่อัศจรรย์ยิ่ง

จึงเกิดประเพณีตักบาตรข้าวต้มลูกโยน โดยจังหวัดสระบุรี ร่วมกับวัดพระพุทธฉาย องค์การบริหารส่วนจังหวัดสระบุรี และ ทุกภาคส่วน ร่วมจัดงานมหัศจรรย์ข้าวต้มลูกโยนแห่งสระบุรี ประจำปี 2563 ที่ วัดพระพุทธฉาย จ.สระบุรี

นายแมนรัตน์กล่าวว่า งานประเพณีตักบาตรเทโวโรหณะ มหัศจรรย์ข้าวต้มลูกโยน จะได้สักการะพระพุทธฉาย นมัสการรอยพระพุทธบาทเบื้องขวา ชมพระปรมา ภิไธยของพระราชวงศ์ 12 พระองค์ที่เคย เดินทางมาวัดพระพุทธฉาย และสนับสนุนสินค้าของชุมชนในจังหวัดเพื่อสร้างรายได้ ให้แก่ชาวบ้านด้วย ที่สำคัญคือ การปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ปฏิบัติตามคำแนะนำของ เจ้าหน้าที่ การสวมใส่หน้ากากอนามัย การใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ การให้ความร่วมมือตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย และสแกนคิวอาร์โค้ด เช็กอินเช็กเอาต์ในแอพพลิเคชั่นไทยชนะ มาตรการเหล่านี้ก็จะช่วยยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อโรคต่างๆ ได้

พระราชธีราภรณ์ กล่าวว่า วัดพระพุทธฉาย ริเริ่มฟื้นฟูประเพณีใส่บาตรข้าวต้มหาง หรือใส่บาตรข้าวต้มลูกโยนมานาน ปฏิบัติต่อเนื่องกันมาจนเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย “ข้าวต้มลูกโยน” หรือ “ข้าวต้มหาง” จะห่อข้าวต้มแบบมีเอกลักษณ์ ลักษณะเหมือนข้าวต้มมัด แต่มีขนาดเล็กกว่า ทำจากข้าวเหนียว นำข้าวเหนียวมาผัดกับกะทิ คล้ายทำข้าวต้มมัด จะใส่กล้วย ใส่ถั่วดำ แล้วแต่ผู้ทำ แล้วนำมาห่อขึ้นรูปแบบการห่อโดยจะนำใบเตย หรือ ใบลานใบไม้อื่นที่คล้ายกัน ทำเป็นกรวยม้วนพันไปจนหุ้มข้าวเหนียวโดยจะทิ้งชายใบเตยหรือใบไม้ที่ห่อไว้ (เพื่อใช้จับชายข้าวต้ม โยนใส่บาตรที่อยู่ห่างไกล) จากนั้นจะมัดก่อนนำไปนึ่งให้สุก ถ้าห่อด้วยใบเตยจะมีกลิ่นหอม รับประทานได้ พร้อมใส่บาตรพระ

การทำข้าวต้มลูกโยน เป็นการถ่ายทอดความสามัคคี ในหมู่คณะ ชุมชน หมู่บ้าน เกิดความร่วมมือร่วมใจในการสืบรักษาประเพณีของชุมชน “การทำข้าวต้มลูกโยน หรือ ข้าวต้มหาง” นิยมทำขึ้นในวันออกพรรษา ประเพณีดังกล่าว ชาวบ้านปฏิบัติสืบสานมาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเป็นประเพณีเก่าแก่ ทุกบ้านจะทำข้าวต้มลูกโยน เพื่อนำไปทำบุญตักบาตรเทโวฯ สำหรับประชาชนที่มาร่วมงานตักบาตรข้าวต้มลูกโยน สามารถหาซื้อข้าวต้มลูกโยน บริเวณภายในวัด โดยกลุ่มแม่บ้านและชาวบ้านในพื้นที่จะนำมาจำหน่ายแก่พุทธศาสนิกชนทั่วไปในงาน

“พระพุทธฉาย” ตั้งอยู่เชิงเขาพุทธฉาย อ.เมือง จ.สระบุรี ที่ชะง่อนผา จะปรากฏรอยภาพเงาพระพุทธเจ้าสีแดง ในลักษณะประทับยืนอยู่บนชะง่อนผา หินเงาสีแดง เมื่อมีฝนตกลงมา น้ำฝนจะไหลลงมาจากยอดเขาไหลแยกออกองค์ภาพเงาพระพุทธเจ้า ไม่ไหลลงมาถูกเงาพระพุทธเจ้า เป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง (หินเงามีแดงเป็นรูปเงาพระพุทธเจ้าได้มีการพิสูจน์แล้ว มิใช่สีแต่งแต้มแต่อย่างใด แต่เป็นหินสีแดง เนื้อหินสีแดงนั้นเป็นหินสีแดงจริงๆ ที่เป็นรูปพระพุทธเจ้า เกิดขึ้นที่ชะง่อนผาอย่างน่าอัศจรรย์)

“งานประเพณีตักบาตรเทโวโรหณะ มหัศจรรย์ข้าวต้มลูกโยน” วันเสาร์ที่ 3 ต.ค. 2563 ตั้งแต่เวลา 07.00 น. เป็นต้นไป ที่ วัดพระพุทธฉาย ต.หนองปลาไหล อ.เมือง จ.สระบุรี

หน้าแรก 

ติดตามข่าวทาง

Facebookhttps://www.facebook.com/PAKPHRIAONE

Exit mobile version